ข่าวประชาสัมพันธ์-ข่าวสาร .TH

ผู้ให้กำเนิดอินเทอร์เน็ตไทย เตือนความเหลื่อมล้ำในยุค 4.0 (บีบีซีไทย)

on กันยายน 20, 2017        by Administrator

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ขณะที่คนเมืองใช้โทรศัพท์มือถือค้นข้อมูลเพิ่มทางเลือกในชีวิตและความสะดวกสบาย ยังมีประชากรไทยอีกกว่า 39 ล้านคนยังไม่มีโอกาสได้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต ผู้นำอินเทอร์เน็ตเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อปี 31 ปีก่อนและทำงานเกี่ยวพันใกล้ชิดทำให้ได้เห็นพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตไทยมาโดยตลอด ห่วงว่าการผลักดันแผนพัฒนาดิจิทัลโดยไม่ระวัง อาจทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่าง คนเมืองกับชนบท “อย่างมหาศาล”

จากประสบการณ์การทำงานในแวดวงอินเทอร์เน็ตมากว่าสามทศวรรษ เธอเชื่อว่าผู้มีส่วนในการวางโครงสร้างเทคโนโลยีสื่อสารไทย ควรมีทัศนคติที่เปิดกว้างและร่วมมือกันมากกว่านี้

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล 

“คนในเมืองอะไรก็ จึ๊ก ๆ บนหน้าจอ ขณะที่คนต่างจังหวัดไม่มีโอกาส นับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นปัญหาในอนาคต” ดร.กาญจนากล่าว

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล คือความแตกต่างด้านโอกาสระหว่างผู้ที่สามารถและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้คนกลุ่มหลังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ ในการหาข้อมูล เพิ่มความรู้ เห็นโอกาสในชีวิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐออนไลน์ได้ สถานการณ์เช่นนี้เองทำให้ช่องว่างระหว่างคนเมืองและคนชนบทเพิ่มมากขึ้น

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้กำหนดให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล (digital divide) เป็นหนึ่งในความท้าทายในแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และก่อตั้งโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ปัจจุบันอยู่ในการดำเนินงานโดยทีโอที เพื่อแก้ปัญหานี้

“ขอให้เขาทำจริง เป็นเรื่องที่ดี ปัจจุบันที่เราเห็นกันอยู่ในต่างจังหวัด มันยังมีปัญหา เพราะจำนวนลูกค้าในหมู่บ้านมันน้อย ผู้ให้บริการก็ไม่อยากลงทุน” กาญจนากล่าว

โครงการเน็ตประชารัฐ วางแผนจะติดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับ 24,700 หมู่บ้านชนบท ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาโครงการได้ประกาศว่าติดตั้งเสร็จแล้ว 15,114 หมู่บ้าน โดยจะบริการ wifi ฟรี 1 จุดต่อหมู่บ้าน ขณะที่ผู้ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านสามารถจ่ายเงินในราคา 399 บาท ต่อเดือน เพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง 

นั่นอาจนับเป็นราคาที่สูงสำหรับหมู่บ้านชนบท เพราะเมื่อดูจากข้อมูลการสำรวจรายได้และรายจ่ายของแต่ละจังหวัดเมื่อปี 2558 จังหวัดที่อยู่กลางตารางอย่างพะเยานั้นมีรายได้ต่อครัวเรือนในหนึ่งเดือนเฉลี่ยน้อยกว่า 20,000 บาท และรายจ่ายเฉลี่ยตกราว 13,000 บาท ค่าอินเทอร์เน็ตจะเข้าไปเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นและคนชนบทอาจจะไม่อยากใช้

ช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยี นับเป็นปัญหาในการพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจแบบดิจิตัลทั่วโลก 

อย่างในประเทศจีน ซึ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและมีประชากรกว่าครึ่งใช้งานอินเทอร์เน็ต มีประชากรในเขตชนบทเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีช่องว่างทางชนชั้นรุนแรงที่สุดในโลก ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่งพบว่ากลุ่มประชาชนที่ยากจนที่สุดร้อยละ 25 มีทรัพย์สินคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของประเทศเท่านั้น

โครงการ DUMBO โดยสถาบัน AIT ช่วยกระจายอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ

ยุครุ่งเรืองของอินเทอร์เน็ตที่ผ่านไปแล้ว

ก่อนที่ทั่วโลกจะให้ความสนใจถึงความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล อินเทอร์เน็ตเคยถูกมองเป็นเครื่องมือที่นำความเท่าเทียมมาสู่สังคมโลก เมื่อประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง

แต่กระแสความคิดนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เมื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปตามสมัย

สำหรับในประเทศไทย ดร.กาญจนา กล่าวว่าอินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มเป็นที่ยอมรับในวงกว้างในช่วงขึ้นสหัสวรรษใหม่ขอโลกตะวันตก ช่วงนั้นพ่อแม่หลายคนส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ และต้องเริ่มเขียนอีเมลคุยกัน ก่อนที่เทคโนโลยี 3G และ 4G ที่ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศเพิ่มอย่างก้าวกระโดด

“ช่วงปีสองพัน มันเป็นยุคที่เรามองโลกแบบสดใส ตอนนี้มันอะไรกันเนี่ย ช่างน่ากลัวขึ้นทุกวัน เรื่องเสรีภาพนี่เห็นด้วย แต่การใช้อินเทอร์เน็ตในการทำอาชญากรรม อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว”

แต่ถึงแม้กาญจนาจะมองว่าการใช้งานและอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตปัจจุบันทำให้เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีเปลี่ยนไป แก่นแท้ของอินเทอร์เน็ตยังเหมือนเดิมนั่นคือ เสรีภาพ และเห็นว่าการแอบดู แอบฟัง หรือเซ็นเซอร์ข้อมูลของทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่สมเหตุสมผล 

“อินเทอร์เน็ตไม่เคยเป็นของใคร ปัจจุบันก็ไม่มีเจ้าของ” ดร.กาญจนากล่าว

“ใจความของอินเทอร์เน็ตจริง ๆ มันคือเสรีภาพ แต่เสรีภาพก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย” 

จุดเริ่มต้นอินเทอร์เน็ตไทย

ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน กาญจนากลับมายังประเทศไทยหลังจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นของออสเตรเลีย เธอต้องการจะส่งอีเมลถึงเพื่อนในต่างประเทศแต่พบว่าไม่มีที่ไหนในไทยสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้

“ขอให้เจ้าหน้าที่ทำ เขาก็ไม่ยอมทำให้ก็เลยต้องทำเอง” เธอกล่าวว่าตอนนั้นเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายให้ใครเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร แม้แต่เจ้าหน้าที่ในสถาบันที่อยู่ห้องติดกัน

ในช่วงปี 2527-2528 กาญจนาจึงช่วยกับอาจารย์จากญี่ปุ่นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งอยากใช้อีเมลเหมือนกัน จนกระทั่งพบว่าระบบที่ห้องสมุดสมัยนั้นมีอุปกรณ์การเชื่อมต่อฐานข้อมูล ทั้งคู่จึงนำมาดัดแปลงจนกลายเป็นโมเด็มระบบ X25 เครื่องแรกที่เชื่อมต่อไปต่างประเทศได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคมปี 2529

คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอีเมลเครื่องแรกของประเทศไทย

กาญจนาคิดว่าอีเมลฉบับแรกในไทยที่เธอเขียนส่งถึงปลายทางที่ออสเตรเลีย น่าจะมีข้อความประมาณว่า “ฮัลโหล ๆ เทสท์” เพื่อทดสอบระบบตามปกติ

“ตอนนั้นก็รู้สึกดีใจ ดีใจที่ว่าการเชื่อมต่อที่เราพยายามทำมันใช้ได้แล้ว แต่ไม่ได้ดีใจถึงว่านี่คือประวัติศาสตร์โลกอะไรอย่างนี้ ดีใจว่า ‘เฮ้ย ติดแล้ว’ อะไรอย่างนี้มากกว่า” กาญจนากล่าว

หลังจากที่ข่าวการใช้อีเมลได้สำเร็จแพร่กระจายออกไปในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ทำให้กลุ่มอาจารย์ที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศแวะเวียนเข้ามาขอใช้งาน จนเกิดเป็นกลุ่มก้อนขึ้นในอีกสี่ห้าปีต่อมา

สมาชิกหลายคนในกลุ่มนั้น ในเวลาต่อมาได้เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลายในประเทศ รวมทั้ง ดร. ยรรยง เต็งอำนวย อาจารย์วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของจุฬาฯ และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล อาจารย์จาก ม.ธรรมศาสตร์ และซึ่งในเวลาต่อมาได้ทำงานเป็น ผ.อ. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ NECTEC

หลังจากนั้นจึงเกิดการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนในปี พ.ศ. 2534 เพื่อร่วมกันพัฒนาอินเทอร์เน็ตในไทย ซึ่งกาญจนามองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และหลายอย่างเกิดขึ้นเร็วมากในช่วงหลายปีต่อจากนั้น

หนึ่งปีให้หลัง ทาง NECTEC ได้ตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Thaisarn สำหรับวงการวิชาการ ในเวลาเดียวกันทางจุฬาฯ AIT และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ร่วมกันก่อตั้งเครือข่าย UNINET 

“ประเทศไทยนี่รวยมากมีสองสาย ตอนนั้นนะ เชื่อมต่อไปอเมริกาที่เดียวกันด้วย ตลกมากเลย ซึ่งจริง ๆ ไม่จำเป็น แต่คนไทยเขาชอบแข่งกัน” กาญจนา ผู้เป็นผู้ช่วยเจรจาให้ทั้งสองกลุ่มมาต่อสายกันในที่สุดกล่าว

อีกสองปีต่อมา ก็เกิดเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการค้าสำหรับบุคคลทั่วไปที่ชื่อ I-Net และ KSC ทำให้อินเทอร์เน็ตขยับขยายสู่ผู้ใช้นอกวงการวิชาการ

“ไม่ได้คิดจะเป็นคนดูแลนะ ก็คิดว่าเมื่อไหร่จะมีคนเอาไปซักที” ดร.กาญจนา กล่าวถึงบทบาทของเธอนับตั้งแต่แรกเริ่มจนทุกวันนี้

ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการแสวงหาอินเทอร์เน็ตในไทยเธอคิดมาตลอดว่า “จะต้องมีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยจัดการ แล้วเอาไปดูแล แต่ปรากฎว่ามันไม่เป็นอย่างนั้น”

เมื่อปีที่แล้ว ดร.กาญจนา กาญจนสุต ได้รับรางวัล “โจนาธาน บี โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด” ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้กระทำคุณประโยชน์ต่ออินเทอร์เน็ต จากผลงานที่ ดร.กาญจนา ได้ช่วยให้อินเทอร์เน็ตเกิดการพัฒนาและเข้าถึงประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต “มารดาของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย”

ทัศนคติที่ยังต้องเปลี่ยน

เมื่อมองย้อนกลับไปในยุคนั้น ดร.กาญจนากล่าวว่าการแข่งขันกันของทั้งสองฝ่ายในตอนนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตในไทยพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบันเธอเชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการร่วมมือและแบ่งปันทรัพยากรกันจะเป็นประโยชน์มากกว่าการมุ่งแข่งขันเพียงอย่างเดียว

“ความรู้สึกของการที่จะพัฒนาแบบช่วยเหลือกัน แชร์กัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายมันไม่ค่อยมี ซึ่งอันนี้เป็นจุดอ่อนของประเทศไทย มันเกิดขึ้นเป็นแท่ง ๆ และไม่มีการทำงานร่วมกัน”

ด้วยเงื่อนไขตามใบประกอบการที่บริษัทเอกชนต้องทำตาม เป็นเหตุผลให้ “ความคิดของเขาเหมือนผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า คือทุกคนพยายามไปซื้อของมาเพื่อจะมาขายต่อ”

ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งดร.กาญจนาคิดว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ควรเป็นผู้ดำเนินการวางสายเครือข่าย เช่นเดียวกับกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก แต่เป็นเรื่องยากที่จะปรับโครงสร้างตอนนี้

ผลกระทบจากการไม่ใช้ทรัพยากรร่วมกันมีให้เห็นได้จากสายไฟเบอร์อินเทอร์เน็ตที่พันกันวุ่นวายตามเสาไฟ ซึ่ง ดร.กาญจนา กล่าวว่าสะท้อนให้เห็นว่าประเทศยังขาดคนวางแผนโครงสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ

“สายไฟเบอร์มันแชร์กันได้ คนนี้ใช้แสงสีหนึ่ง อีกคนใช้แสงอีกแสงหนึ่ง” ดร.กาญจนากล่าว 

“พวกเขาใช้เหมือนแสงทองแดง เส้นหนึ่งใช้แสงเดียว ประเทศด้อยพัฒนาจะเป็นอย่างเรา”

ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์ – ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
20 กันยายน 2017

Share :

THNIC Facebook Page

Member of

โครงการของมูลนิธิ